ทำด้วยหินอ่อน เป็นรูปทรงแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบรอบตัว  ด้านหน้าตบแต่งด้วยรูปนักบุญพรหมจารีและมรณสักขี 5 องค์ คือ นักบุญลูซีอา นักบุญอักแนส นักบุญฟีโลมีนา นักบุญเซซีลีอา และนักบุญอากาทา ซึ่งให้ความหมายของพระแท่นบูชา ที่ถวายบูชาอันบริสุทธิ์แด่พระเจ้า กล่าวคือองค์พระเยซูเจ้า ซึ่งทรงเป็นลูกแกะที่ไร้มลทิน ยอมพลีชีวิตเพื่อไถ่บาปมนุษยชาติ และพร้อมกับองค์พระเยซูเจ้า เรามนุษย์ก็ร่วมถวายบูชาอันบริสุทธิ์ โดยมีนักบุญทั้งห้านี้เป็นเครื่องหมายนั่นเอง

เข้าใจว่า เมื่อแรกสร้างวัดหลังปัจจุบันนี้นั้น(สร้างเสร็จสมบูรณ์ ปี 1897) พระแท่นนี้ติดอยู่กับแท่นอันเป็นที่ตั้งของตู้ศีลฯ แต่ต่อมา หลังจากสังคายนาวาติกันที่ 2 ซึ่งปฎิรูปพิธีกรรม โดยให้พิธีกรรมต่างๆบนพระแท่นกระทำเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของสัตบุรุษ มิใช่ให้พระสงฆ์ต้องหันหลังให้สัตบุรุษเหมือนดังแต่ก่อน จึงมีการเคลื่อนย้ายพระแท่นนี้ มาไว้ในตำแหน่งอันเป็นปัจจุบันนี้ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าได้กระทำเมื่อใด

 

 

เพื่อให้เข้าใจความหมายและความสำคัญของพระแท่นบูชาดีขึ้น พ่อขอสรุปสิ่งที่ The general instruction of the Roman missal กำหนดไว้ ดังนี้

พระแท่นคือสถานที่ซึ่งบูชาบนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าถูกทำให้เป็นปัจจุบัน

พระแท่นเป็นโต๊ะแห่งมื้ออาหารที่ประชากรของพระเจ้าถูกเรียกให้มามีส่วนร่วมในมิสซา

พระแท่นคือศูนย์กลางของการขอบพระคุณ และที่จริงมิสซาก็คือบูชาขอบพระคุณ

 พระแท่นที่ตั้งอยู่ในวัด ควรต้องเป็นพระแท่นที่มั่นคงตายตัว กล่าวคือเคลื่อนย้ายไม่ได้ เพื่อเป็นเครื่องหมายถึงองค์พระเยซูเจ้าซึ่งเป็น

 

 

ศิลาที่ทรงชีวิต (1ปต.2,4)
พระแท่นต้องตั้งอยู่ในตำแหน่งอันเป็นศูนย์กลางที่เด่นที่สุดเมื่อหันหน้าหาสัตบุรุษ โดยไม่ควรมีสิ่งใดบดบัง และเพื่อช่วยให้ความหมายและคุณค่าของพระแท่นเด่นชัดขึ้น พ่อจึงถือโอกาสนี้นำเสนอประวัติเรื่องราวของนักบุญพรหมจารีและมรณสักขีทั้งห้า ซึ่งเป็นรูปหินอ่อนแกะสลักประดับอยู่ด้านหน้าพระแท่นไว้ให้ศึกษาด้วย

 

นักบุญอากาทา
พรหมจารีและมรณสักขี
ฉลองวันที่ 5 กุมภาพันธ์
องค์อุปถัมภ์ภัยจากภูเขาไฟ และไฟไหม
 

           นักบุญอากาทา เกิดจากครอบครัวมีตระกูลที่เกาะซิซีลี ชาวคาทาเนียและชาวปาเลอร์ม ต่างก็แย่งเกียรติภูมิให้เป็นที่เกิดของเธอ อากาทาขึ้นชื่อเด่นด้านความสวยงาม และความบริสุทธิ์
         ควินเตียน รองผู้สำเร็จราชการจึงแสดงความจำนงมาสู่ขอเธอเป็นภรรยา แต่เธอตอบปฏิเสธ ควินเตียน จึงสั่งจับเธอในฐานะเป็นคริสตัง และใช้นางอาฟรอดิสหญิงชั่วคนหนึ่งมาล่อลวงให้เธอเสียความบริสุทธิ์ แต่ทว่าไร้ผล จึงสั่งให้ตบหน้าเธอและขังไว้ในคุกมืด เขานำเธอมาทรมานอย่างโหดร้าย แต่เมื่อเธอกลับไปห้องขัง นักบุญเปโตรอัครสาวก ได้ประจักษ์มารักษาแผลของเธอให้หายอย่างอัศจรรย์ ต่อมาเธอได้ถูกทรมานอีกและสิ้นใจ เธอได้รับมงกุฎเป็นมรณสักขีในคุกที่เมืองคาทาเนีย สมัยจักรพรรดิเดซีอุส

มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าภูเขาไฟเอตนาส่งเสียงคำรามและระเบิด พ่นเถ้าถ่านและลาวาออกมาอย่างน่าสะพรึงกลัว ชาวเมืองได้รีบไปเอาผ้าที่ปกคลุมคูหานักบุญอาทากา มาขึงต่อหน้าลาวาที่กำลังไหลบ่ามาท่วมเขา  อัคคีภัยนั้นก็หยุดทันที ชาวเมืองจึงนับถือท่านนักบุญเป็นองค์อุปถัมภ์ช่วยป้องกันภัยจากภูเขาไฟ เขายังอ้อนวอนขอเธอเมื่อเกิดไฟไหม้ด้วย

             ข้าแต่พระเป็นเจ้า ผู้ทรงสรรพานุภาพ และทรงชีวิตนิรันดรพระองค์ได้ทรงเลือกสรรผู้ซึ่งในสายตาของโลกเห็นว่าเป็นคนอ่อนแอ และทรงบันดาลให้เขาเข้มแข็งจนผู้ที่มีกำลังต้องอับอาย ขอโปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้มีความเชื่ออันเข้มแข็งและชนะศัตรู เยี่ยงนักบุญอากาทาพรหมจารีและมรณสักขี ด้วยเทอญ

 

*************************************************************************************************************************************************
 

               นักบุญอักแนส เกิดที่กรุงโรม เมื่อหนูอักแนส อายุเพียง 12 ขวบเท่านั้น เธอถูกนำไปให้ยืนอยู่ต่อหน้ารูปปั้นพระ “มีเนวา” ในกรุงโรม เพื่อถวายกำยาน แต่เธอกลับชูมือขึ้นกราบนมัสการพระเยซูคริสตเจ้าและทำเครื่องหมายกางเขน พวกทหารจึงได้รวบมือทั้งสองของเธอมาใส่กุญแจ แต่เนื่องจากข้อมือของเธอเล็กเกินไป ทำให้กุญแจกับโซ่หลุดลงไปกองกับพื้น

               พวกเขาได้จับเธอเปลื้องเสื้อและให้ยืนอยู่ในถนนเพื่อประจาน ขณะที่ประชาชนเบือนหน้าหนีจากร่างของเธอ ปรากฏว่ามีหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งบังอาจมองเธอด้วยความคิดชั่ว ทันใดเกิดสายฟ้าแลบฟาดลงมา ทำให้ชายนั้นตาบอดทันที
              

             อักแนส ได้ถูกบังคับให้แต่งงานกับเศรษฐีหนุ่มชื่อ ปรอก๊อบบุตรของแซมปรอนีอุส ผู้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงโรม แต่เธอกล่าวว่า “พระคริสตเจ้าทรงเป็นสามีของดิฉัน และดิฉันก็เป็นของพระองค์ พระองค์ประดับวิญญาณของดิฉันด้วยเพชรพลอยแห่งคุณธรรม และพระคุณอานิสงส์อันประเสริฐ” ปรอก๊อบคิดว่าเธอมีชายอื่นในดวงใจ จึงบอกกับบิดาขอให้จับเธอไปขังไว้ในบ้านหญิงโสเภณี ที่นั่นมีเทวดาองค์หนึ่งคอยพิทักษ์เธอไว้

         เมื่อปรอก๊อบเข้ามาหาเธอเขาก็ตายโดยกระทันหัน อักแนสทำอัศจรรย์ให้ปรอก๊อบคืนชีพ เขาจึงกลับใจ แต่พ่อของเขาได้สั่งให้จับอักแนสไปประหารชีวิต อักแนสสวดภาวนาอยู่นาน แล้วก้มศีรษะรอรับคมดาบ แต่เพชฌฆาตเกิดอาการลังเล เธอจึงบอกเตือนให้เขาทำตามหน้าที่จนสำเร็จ สัตบุรุษได้สร้างวัดเซนต์อักแนสไว้ที่นอกกำแพงเมือง เพื่อเป็นอนุสรณ์ไว้คอยเตือนใจหญิงสาวคาทอลิกที่จะต้องรักษาธรรมเนียมคริสตัง

             ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสรรพานุภาพ และทรงชีวิตนิรันดร พระองค์ได้ทรงเลือกสรรผู้ซึ่งในสายตาของโลกเห็นว่าเป็นคนอ่อนแอ และทรงบันดาลให้เขาเข้มแข็งจนผู้ที่มีกำลังต้องอับอาย ขอโปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้มีความเชื่ออันเข้มแข็งและชนะศัตรูเยี่ยงนักบุญอักแนสพรหมจารีและมรณสักขีด้วยเทอญ

 

 

 

 

นักบุญเซซีลีอา
พรหมจารี และมรณสักขี
ฉลองวันที่ 22 พฤศจิกายน
องค์อุปถัมภ์นักดนตร

                
                   เราไม่ทราบรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับนักบุญองค์นี้แต่ก็มีเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า เซซีลีอามาจากครอบครัวที่มีชื่อเสียง เธอได้ปฏิญาณถือพรหมจารีตั้งแต่วัยเด็ก แต่ในบ้านมีเธอคนเดียวเป็นคริสตัง เธอจึงถูกบังคับให้แต่งงานกับหนุ่มนอกศาสนาชื่อวาเลเรียน ค่ำวันแต่งงานเธอบอกกับวาเลเรียนว่า “คุณรู้ไว้เถิดว่าดิฉันเป็นคริสตัง และพระเยซูเจ้าเป็นพระสวามีแต่ผู้เดียวของฉัน ถ้าคุณอยากอยู่กับฉัน ก็ต้องเคารพศีลพรหมจรรย์ของดิฉัน ดิฉันมีอารักขเทวดาองค์หนึ่งคอยป้องกันเสมอ”

 

...วาเลเรียนประกาศว่า “เขาจะเชื่อถึงพระคริสตเจ้าถ้าเขาได้เห็นเทวดาองค์นั้น เซซีลีอาจึงยืนยันว่าถ้าไม่รับศีลล้างบาปเสียก่อนก็มิอาจเห็นเทวดาได้ เธอได้บอกวาเลเรียนให้ไปเฝ้าพระสันตะปาปาอูรแบ็ง ในกาตากอมบ์ เนื่องจากเป็นสมัยที่มีการเบียดเบียน พระสันตะปาปาได้โปรดศีลล้างบาปให้ และเมื่อกลับไปวาเลเรียนก็แลเห็นเทวดาเปล่งรัศมีรุ่งเรืองอยู่ใกล้ ๆ เซซีลีอาผู้ถือพรหมจรรย

 

 

 

 

               วาเลเรียนได้ชักชวนตีบูรซ์น้องชายของเขาให้มาเป็นคริสตัง เซซีลีอาได้สอนคำสอนให้ตีบูรซ์ และเมื่อตีบูรซ์ได้รับศีลล้างบาปแล้ว เขาก็แลเห็นอารักขเทวดาของเซซีลีอาเช่นเดียวกับพี่ชายของตน

เมื่อเจ้าเมืองได้ทราบเรื่องนี้จึงสั่งให้จับ 2 พี่น้องไปฆ่า เซซีลีอาปฏิเสธที่จะกราบไหว้บูชาพระเท็จเทียม เธอถูกบีบคอและนำไปรนด้วยไอน้ำเดือด แต่เธอไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด ที่สุดเขาจึงมีคำสั่งให้นำเธอไปตัดศีรษะ เพชรฆาตลงดาบถึง 3 ครั้งแต่ศีรษะเธอมิได้หลุดจากบ่า เธอได้รับบาดแผลฉกรรจ์ แต่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 3 วัน  เธอได้ยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่พระศาสนจักรเพื่อทำประโยชน์ และได้รับศีลมหาสนิทก่อนสิ้นใจในปี 117

               ศพของเซซีลีอาถูกฝังไว้ในอุโมงค์ใต้ดินเรียกว่า “กาตากอมบ์” และได้รับการเชิญไปฝังไว้ในพระวิหารนักบุญเซซีลีอา ที่กรุงโรม ในปี 1599 เมื่อเปิดหีบศพออกดูปรากฏว่าร่างกายของเธอมิได้เปื่อยเน่าไปเลย

               ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอทรงโปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลาย ผู้วอนขอต่อพระองค์ทางนักบุญเซซีลีอาโปรดฟังคำอธิษฐานภาวนาของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเทอญ
 

 

นักบุญลูซีอา
พรหมจารีและมรณสักขี
 (ต้นศตวรรษที่ 4) ฉลองวันที่ 13 ธันวาคม

           ลูซีอา ชื่อของเธอแปลว่า " แสงสว่าง "
             ในวัยเด็ก ลูซีอา ได้ถวายตัวแด่พระเป็นเจ้า หนุ่มเศรษฐีคนหนึ่งมาขอแต่งงานกับเธอและได้รับการปฏิเสธจึงโกรธมาก เขาจึงไปบอกกล่าวต่อทางการว่าลูซีอาเป็นคริสตชน

         เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 304 เจ้าเมืองพยายามขู่เข็ญบังคับให้ลูซีอาละทิ้งความเชื่อในพระคริสตศาสนา เขาได้ถามเธอว่า “พระจิตสถิตอยู่ในตัวเธอหรือ ?” เธอตอบว่า “ผู้ใดที่มีใจบริสุทธิ์ก็เป็นที่สถิตของพระจิตเจ้า” เขาได้จุดกองไฟรอบตัวเธอ เพื่อว่าเมื่อเธอทนความร้อนจัดไม่ได้ก็จะละทิ้งความเชื่อด้วยความจำยอมแต่เธอก็ไม่ได้รับอันตราย และในที่สุดเขาได้ใช้ดาบแทงอกเธอ แต่เธอก็มิได้ตายในทันที จนกระทั่งพระสงฆ์มาโปรดศีลมหาสนิทให้ ลูซีอาได้รับการยกย่องนับถือจากประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานเกี่ยวกับโรคตา

           ชื่อเสียงของนักบุญลูซีอา เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากในเกาะซิซีล เป็นต้นที่เมืองซีราคูซาและที่เมืองนี้เองที่นักโบราณคดีได้ค้นพบร่องรอยที่ทำให้สามารถยืนยันได้ว่า การเคารพให้เกียรตินามนักบุญองค์ นี้ได้เริ่มมีมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 5 แล้ว การค้นพบดังกล่าวก็คือมีตัวหนังสือบนหลุมฝังศพของเธอและในกาตากอมบ์ เนื่องจากการเคารพให้เกียรติเธอนั้นแพร่หลายมาก พระศาสนจักรโรมันจึงได้ใส่ชื่อของเธอในบทภาวนาอนุโมทนาคุณโรมันด้วย ซึ่งเชื่อว่าคงจะเป็นผลงานของนักบุญเกรโกรี่องค์ใหญ่

             ข้าแต่พระผู้เป็นเข้า ข้าพเจ้าทั้งหลายมาวอนขอต่อนักบุญลูซีอาผู้พรหมจารีและมาร์ตีร์ เป็นผู้เสนอแทนเพื่อข้าพเจ้าทั้งหลายจะนิยมยินดีในคุณธรรม ยิ่งกว่าสรรพสิ่งแห่งโลกและเทิดพระเกียรติองค์พระผู้เป็นเจ้าเหนือสรรพสิ่งทั้งปวง
 

เพลง Santa Lucia

 

รื่องของเพลง
               ซานตา ลูเชีย เป็นเพลงที่มีชื่อเสียงของเนเปิ้ล เป็นเพลงพื้นบ้านนาโปลีแตน ซึ่งอุทิศให้กับ ชุมชนซานตา ลูเชีย แห่งอ่าวเนเปิ้ล ซึ่งได้รับการยกย่องไว้อย่างสวยงามในบทเพลงนี้ว่าเป็นดินแดน แห่งดินศักดิ์สิทธ์ ยิ้มแย้มแจ่มใส โดยผู้สร้าง ซานตา ลูเชีย ถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งดนตรี
               เพลงนี้ถูกเรียบเรียงโดย TeodoroCottrau (1827 – 1879) และจัดจำหน่าย โดยบริษัท Cottrauในปี 1849 ที่เนเปิ้ล Cottrau แปลมันมาจากเพลง Napuletano เป็นภาษาอิตาเลี่ยน ซึ่งถือว่าเป็นเพลงแรกของนาโปลีแตนที่เป็นภาษาอิตาเลี่ยน ผู้ที่ได้รับการยกย่อง ว่าเป็นผู้แต่งคือ Guillaume Louis Cottrau (1797 – 1847) ซึ่งเกิดในฝรั่งเศส และ เป็นนักแต่งเพลงและสะสมเพลงมากมายในสมัยนั้น
 

       บทเพลงนี้กล่าวถึง วิวทิวทัศน์ของฉากน้ำหน้าชุมชนซานตา ลูเชีย ในอ่าวเนเปิ้ล บทเพลงเป็นการเชื้อเชิญของชาวเรือให้ลงเรือเพื่อชมความงามยามสนธยาอันแสนโรแมนติค

       ในตำนานของเมือง Syracuse(Siracusa) บนเกาะซิซิลี ทางใต้ของอิตาลี เล่ากันว่า “มีเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อLucia เกิดเมื่อปี 283 ในครอบครัวซิซิเลี่ยนผู้มั่งคั่ง เธอคิดอยู่เสมอว่า เมื่อเธอโตขึ้นเธอจะเลือกเดินตามรอยของ St.Agatha ซึ่งเป็นเทพอุปถัมภ์และเป็นที่นับถือของเมืองใกล้เคียงดังนั้น เธอจึงตั้งปฏิธานที่จะรักษาพรมจรรย์ไว้และอุทิศทรัพย์สมบัติให้กับผู้ขัดสนยากไร้

Lucia หมายถึง แสงสว่าง เธอเกิดอยู่ในช่วงเวลาที่ชาวคริสเตียนถูกไล่ฆ่าโดยทหารโรมัน ในศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระผู้เป็นเจ้า แต่เหตุนี้ก็ไม่สามารถขัดขวางเธอในการที่เข้าไปช่วยเหลือโดย การนำอาหารไปให้ชาวคริสเตียนที่หลบซ่อนตัวอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน โดยที่เธอจะสวมพวงมาลัยพร้อมถือเทียนไขส่องสว่างในขณะที่นำอาหารเข้าไปให้ผู้คน
  

ต่อมา Lucia ถูกจับได้ว่าเป็นพวกคริสเตียน เธอจึงถูกส่งไปยังโรงหญิงโสเภณี เพื่อเป็นการลงโทษ แต่ที่นี่ก็เป็นที่ๆ ทำให้เธอมีศรัทธาต่อพระเจ้ามากขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาทางการได้ให้ทหารนำเธอไปสำเร็จโทษ แต่ได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น เพราะว่าทหารไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเธอได้ ฝ่ายทหารจึง ได้ปักเสาและมัดเธอไว้กับหลักและทำการเผาเธอ แต่ก็เกิดปาฎิหาริย์ขึ้นอีก โดยเปลวไฟที่ลุกโชนก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรเธอได้ สุดท้ายทหารจึงต้องเอาดาบแทงเธอที่ลำคอ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปี 304

หลักจากการตายของ Lucia ได้เกิดทุพภิกขภัย อดอยากไปทั่วดินแดนเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ต่อมาในปี 1582 ประชาชนชาว Syracuse ได้แต่สวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า จนกระทั่งได้รับคำตอบได้สวรรค์ เมื่อมีเรือลำหนึ่งปรากฏขี้นที่ท่าเรือของวันที่ 13 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันที่ Lucia เสียชีวิต เรือลำนั้นเต็มไปด้วยเมล็ดข้าว ซึ่งชาว Syracuse สามารถนำมาประทังชีวิตได้สืบไป….เป็นผลพวงจากการพร่ำสวดหา “Lucia” และเช่นเดียวกับเทพองค์อื่นๆ ย่อมทีตำนานเล่าขนไปต่างๆนานา บ้างก็ว่า Lucia เป็นหญิงตาบอด แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาที่เธอมีต่อพระเจ้า ทำให้เธอสามาถทำให้เธอมองเห็นได้อีกครั้ง และเธอต้องถูกไล่ล่าจากศรัทธาที่เธอมีต่อพระศริสต์นั่นเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นตำนานใดๆ ก็ตาม มักจะกล่าวขวัญถึง Lucia ว่าเป็นคนกล้าหาญ มีความเมตตาและเป็นคนพิเศษที่นับถือกันอย่างกว้างขวางไปทั่วดินแดน

                          

 

           ภาพของ Luciaถูกวาดเอาไว้มากมาย เป็นภาพของหญิงถือจานที่มีดวงตาคู่หนึ่งบนจานและนี่คือเหตุผลที่ทำให้เธอเป็น “เทพผู้อุปถัมภ์คนตาบอด”

         สำหรับในงานฉลองรำลึกถึง Santa Lucia ถูกจัดแตกต่างกันไปทั่วทั้งอิตาลี ในซิซิลี เขาจะจัดกองไฟสุมอยู่กลางแจ้ง เพื่อเป็นการรำลึกถึงแต่จะงดเว้นการกินขนมปังและพ้าสต้า ส่วนทางตอนเหนือของอิตาลี เด็กๆจะเอาแครอทและหญ้าเฮย์ให้ลากิน เพราะเชื่อว่า Santa Lucia จะนำเอากระเป๋าซึ่งเต็มไปด้วยของขวัญมามอบให้ ในปัจจุบัน เชื่อกันว่า Santa Lucia เป็นเทพอุปถัมภ์ของ Syracuse เกาะซิซิลีในประเทศสวีเดน มีการเฉลิมฉลองและรำลึกถึง Santa Lucia อย่างมาก ตำนานของ Santa Lucia แพร่เข้ามาในสวีเดนผ่านทางผู้สอนศาสนาและพวกชาวประมงที่เดินทางไปทั่ว


ทั้งอิตาลี เชื่อกันว่า Santa Lucia เป็นผู้ที่นำความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มาสู่สวีเดน คล้ายๆกับเรื่องเล่าที่ Syracuse ยามเมื่อเกิดทุพภิกขภัย สตรีในชุดขาวพร้อมรัศมีที่เปล่งประกายบนศีรษะจะปรากฏ กายบนเรือที่เต็มไปด้วยพืชผล ความอุดมสมบูรณ์มาให้ชาวสวีดิชในยามทุกข์ยาก
  
             ในสวีเดนจะมีเทศกาลเฉลิมฉลอง ทุกวันที่ 13 ธันวาคม ครอบครัวใดมีลูกสาวคนโตก็จะให้สวมชุดยาวสีขาว พร้อมสายสะพายสีแดงและสวมมงกุฎแห่งแสงสว่าง ถือถาดใส่อาหารและกาแฟ มาให้แก่คุณพ่อคุณแม่ของเธอ แต่ถ้ามีเด็กชายในครอบครัวก็จะให้แต่งชุดโบราณที่ใช้แสดงละคร สวมหมวกทรงสูงรูปกรวยประดับดาวสีทอง และมีขบวนพาเหรดจัดขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงการประกวด เทพธิดา Santa Lucia ด้วย ซึ่งปรากฏว่ามีหญิงสาวพากันประกวดอย่างมากมายเพื่อที่จะพิชิตมงกุฏ แห่ง Santa Lucia

******************************************************************************************************************************************************

 

       ฟีโลมีนา มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี บิดาของท่านเป็นผู้ปกครองมณฑลนิโคโปลิส พีโลมีนาเป็นความเบิกบานของครอบครัว เธอติบโตด้วยความรักต่อองค์พระคริสตเจ้าอย่างล้นดวงใจ เธอได้รับการอบรมสั่งสอนศาสนาจากผู้ดูแล เธอถือศีลความบริสุทธิ์และสัญญาว่าจะรักแต่พระองค์เท่านั้น

       ในปี ค.ศ.302 ผู้ปกครองโรมได้ทำการเบียดเบียนคริสตชนอย่างรุนแรง และกำลังขยายมาถึงมณฑลนิโคโปลิส บิดาไม่อยากให้มีการนองเลือดจึงต้องไปทำพันธมิตรกับผู้ปกครองของโรม ขณะนั้น ฟีโลมีนาอายุได้เพียง 13 ปี

       ที่กรุงโรมก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีและเพราะความงามของฟีโลมีนา เป็นที่ปรารถนาของท่านผู้ปกครองโรม ท่านมีอำนานจและมีกำลังทหารมากกว่า จึงยื่นข้อเสนอขอตัวฟีโลมีนามาเป็นภรรยาอีกคน ซึ่งเป็นข้อแลกเปลี่ยนในการฆ่า และเบียดเบียนคริสตขน แต่ฟีโลมีนากล่าวว่า “ดิฉันนมัสการพระคริสตเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว” “หนูไม่มีวันจะแต่งงานกับใครได้ทั้งนั้น เพราะหนูสัญญาว่าจะรักแต่พระเยซูเจ้าเพียงผู้เดียว” ...เป็นที่วิตกยิ่งนัก เพราะการปฏิเสธนี้อาจนำมาซึ่งสงครามและความตายของตัวเอง...ความโกรธ เกลียดแค้น และการทรมานเริ่มขึ้น ฟีโลมีนาถูกจับไปขังคุก โบยตีอย่างหนัก แต่สาวน้อยฟีโลมีนา ยังมั่นคงในความเชื่อความรักที่มีต่อพระเป็นเจ้า

             ในคืนนั้นผู้ปกครองโรม ให้นำฟีโลมีนาไปโยนทิ้งทะเล เธอถูกมัดมือมัดเท้า และเอาสมอเรือถ่วงที่คอของเธอและโยนลงทะเล ทันใดนั้นเองมีเทวดาของพระเจ้ามาตัดเชือกและช่วยเธอเอาไว้

             วันสุดท้าย ณ ลานประหาร ผู้ปกครองโรมได้กล่าวท้าทายฟีโลมีนาอีกว่า “ถ้าเยซูชาวนาซาเร็ธที่เจ้านับถือสามารถช่วยเจ้ามิให้หัวหลุดจากบ่าได้ เราจะนับถือเขาเช่นกัน” ฟีโลมีนาตอบว่า “องค์พระเป็นเจ้าได้ทรงกระทำอัศจรรรย์หลายอย่างทั้งที่ท่านเห็นด้วยตา แต่ท่านก็ไม่เชื่อในพระองค์ แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่ท่านจะมาท้าทายพระองค์พระเป็นเจ้าอีกเล่า” ที่สุดฟีโลมีนา สิ้นใจด้วยคมขวานจากเพชรฆาต